ที่มา : บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลล็อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน)ณ ปัจจุบันเครื่องมือที่ช่วยคุ้มครองหรือประกันความเสี่ยงในการซื้อที่อยู่อาศัยในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ผู้บริโภคจึงเลือกซื้อที่อยู่อาศัยจาก ผู้ประกอบการที่มี "ความน่าเชื่อถือ" เป็นลำดับแรก เพราะอย่างน้อยก็เป็นการการันตีได้ว่า "ซื้อบ้านแล้วต้องได้บ้าน" แน่นอน"Escrow Account" หรือกฎหมายประกันเงินดาวน์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะเข้ามาช่วยคุ้มครองเงินดาวน์ของผู้บริโภค ถือเป็นอีกกฎหมายหนึ่งที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ที่ผู้บริโภคพึงได้รับ ซึ่งในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาและมีความเข้มแข็งด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างยอมรับและยึดถือปฏิบัติ ในบ้านเรา Escrow Account เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในช่วงที่เกิดเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจเนื่องจากในช่วงเวลานั้นผู้ประกอบการจำนวนมากได้รับผลกระทบจากวิกฤต เงินดาวน์ที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคก็สูญหายไปกับการลงทุน สุดท้ายเหลือไว้เพียงซากอาคารและใบจองให้ผู้บริโภคดูต่างหน้า แต่ด้วยกฎหมายนี้ถือเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับวงการอสังหาฯบ้านเรา ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่างพูดคุยถึงข้อดี-ข้อเสียของการนำมาบังคับใช้ สุดท้ายกฎหมาย Escrow Account ก็เงียบหายและไม่มีการหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงไปช่วงเวลาหนึ่งหลังจากผ่านช่วงวิกฤตฟองสบู่ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศฟื้นกลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกชะลอตัวมาเป็นเวลานาน ผู้บริโภคมีความต้องการและมีกำลังซื้อมากขึ้น จึงส่งผลให้สินค้าที่ผลิตขึ้นมาจาก ผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายสามารถผ่านช่วงวิกฤตในครั้งนั้นและต่างก็ได้รับการตอบรับที่ดี กล่าวได้ว่าผลิตขึ้นมาเท่าไรก็ขายหมดเท่านั้น กลายเป็นภาพที่ดึงดูดให้นักธุรกิจหน้าใหม่พากันกระโดดลงมาขุดทองในวงการอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ทวีความรุนแรงจากการแข่งขันกันมากขึ้น จนโครงการต่างๆ พากันผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ไม่ว่าจะเป็นทำเลในเมืองหรือไร่ทุ่งทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลัวว่าวิกฤตจะหวนกลับมาซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง จึงหาทางป้องกันด้วยการออก "มาตรการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเงินกู้โครงการ" แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งในความสำคัญของมาตรการนี้ คือ หาก ผู้ประกอบการรายใดที่มีการขอวงเงินกู้เกิน 100 ล้านบาท สถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้จะต้องทำรายงานการปล่อยกู้ชี้แจงต่อ ธปท.อย่างละเอียด เพื่อศึกษาถึงรายละเอียดโครงการและศักยภาพของบริษัทในการพัฒนาโครงการให้ประสบความสำเร็จ เพื่อไม่ให้เงินกู้จากสถาบันการเงินและเงินที่ลูกค้าจ่ายนั้นสูญเปล่า โดยมาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน สภาที่อยู่อาศัยแห่งชาติจึงเป็นห่วงและกังวลถึงปัญหาการทิ้งงานก่อสร้างของผู้ประกอบการรายย่อย ดังนั้น เมื่อปี 2547 ที่ผ่านมา 3 สมาคมใหญ่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประกอบด้วยสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ได้ร่วมกับสภาที่อยู่อาศัยแห่งชาติหยิบยกกฎหมายประกันเงินดาวน์กลับมาพิจารณาอีกครั้ง และเสนอให้มีการร่างประกาศใช้กฎหมาย Escrow Account เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงเป็นการยกระดับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศให้มีความเข้มแข็งทัดเทียมนานาประเทศสำหรับข้อกำหนดและข้อปฏิบัติในกฎหมาย Escrow Account ที่จะเข้ามาช่วยรักษาและคุ้มครองเงินดาวน์ของผู้บริโภคนั้น เริ่มจากการจัดตั้งหน่วยงานกลางที่จะเข้ามาทำหน้าที่เก็บรักษาเงินดาวน์ของผู้บริโภค ซึ่งหน่วยงานกลางในที่นี้ก็คือ ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งนอกจากจะเก็บรักษา และดูแลเงินดาวน์แล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่ในการจ่ายเงินในส่วนที่ถือเป็นเงินดาวน์คืนกลับให้แก่ ผู้ประกอบการในจำนวนที่สอดคล้องกับความคืบหน้าของงานก่อสร้างแค่เพียงเริ่มต้นปัญหาต่างๆ ก็ส่อเค้าด้วย ข้อถกเถียงในเรื่องของการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่างผู้ประกอบการหรือลูกค้า รวมถึงรายละเอียดข้อปลีกย่อยต่างๆ ทั้ง 3 สมาคมและสภาที่อยู่อาศัยฯยังคง เล็งเห็นตรงกันถึงความจำเป็นที่ต้องมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้อยู่ เพราะนอกจากจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในธุรกิจให้เกิดขึ้นในสายตาผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยเสริมความเข้มแข็งของธุรกิจอสังหาฯไทยในอนาคตอีกด้วยอย่างไรก็ตาม ความเร่งด่วนและความจำเป็นที่จะประกาศใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว หลายฝ่ายไม่ได้เร่งรีบประกาศใช้เพราะสภาพตลาดในขณะนี้มีศักยภาพที่ดี ดังนั้นเพื่อให้กฎหมายมีความครอบคลุม สมบูรณ์ และเกิดประโยชน์สูงสุดทั้ง ผู้ประกอบการและผู้บริโภค จึงมีการชะลอการประกาศใช้จนกว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้สมบูรณ์มากที่สุดในส่วน "ผู้บริโภค" ตราบใดที่ยังไม่มีเครื่องมือที่ช่วยในการคุ้มครอง "เงินดาวน์" หรือยังไม่มีการประกาศใช้กฎหมาย Escrow Account แนวทางและวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาการ "ซื้อกระดาษเปล่า" หรือซื้อบ้าน แล้วไม่ได้บ้านที่ดีที่สุด คือ ต้องศึกษารายละเอียดในบริษัทนั้นๆ ทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง โดยเฉพาะความมั่นคงของบริษัท สภาพคล่องทางการเงิน ศักยภาพในการลงทุน การบริการหลังการขาย การดูแลลูกค้า มาตรฐานงานก่อสร้าง รวมถึงผลงานการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องยืนยันที่จะ ทำให้คุณมั่นใจได้ว่า "เม็ดเงิน" ที่จ่ายไปนั้น จะไม่สูญค่า
จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 03 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3806 (3006)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น